วันนี้เรานำเอาเทคนิคเรียนภาษาญี่ปุ่นด้วยตนเองให้ได้ผลมาฝากเพื่อนๆ สำหรับใครที่อยากจะเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นหรือกำลังเรียนอยู่แล้วท้อแท้ ยิ่งถ้าได้มีการทบทวนฝึกซ้อมบ่อยๆ ด้วยละก็ เพื่อนๆ ต้องเก่งกันภาษาญี่ปุ่นทุกคนแน่นอน…
ถ้าจะบอกว่าข้อแรกนี้สำคัญที่สุดก็คงจะไม่ผิด เพราะข้อเสียของการเรียนด้วยตัวเอง คือไม่มีคนมาคอยจ้ำจี้จ้ำไชนั่นเอง ฉะนั้นเราต้องมีความต้องการที่จะเรียนจริงๆ มีความหลงไหลที่จะเรียน หากไม่มีข้อนี้แล้วการจะเรียนให้สำเร็จก็ยากแล้วละครับ หลายคนอาจจะชื่นชอบวัฒนธรรมญี่ปุ่น ชอบคนญี่ปุ่น ชอบเที่ยวญี่ปุ่น ชอบฟังเพลงญี่ปุ่น ชอบดูอนิเมะญี่ปุ่น ชอบเล่นเกมญี่ปุ่น สิ่งเหล่านี้ก็สามารถเป็นแรงผลักดันที่ดีในการเรียนภาษาญี่ปุ่นได้
2. ฝึกจำตัว ฮิระงะนะ และ คะตะคะนะ ให้ได้ก่อน
ภาษาญี่ปุ่นมีตัวอักษร ฮิระงะนะ และ คะตะคะนะ อย่างละ 46 ตัว ให้ฝึกเขียนและจำให้ได้ครบทุกตัวก่อน รวมไปถึงการฝึกผสมตัวอักษรและวิธีการอ่าน ซึ่งข้อมูลเหล่านี้สามารถหาดูได้เยอะแยะมากมายบนอินเตอร์เน็ต หนึ่งในเคล็ดลับการฝึกจำก็คือ ทำฉลากตัวอักษรทั้งหมดใส่ในกล่อง เวลาอยู่ว่างๆก็หยิบขึ้นฉลากขึ้นมา แล้วให้อ่านตัวอักษรนั้นให้ได้เร็วที่สุด
3. หาหนังสือดีๆเพื่อใช้ในการเรียน
หลังจากที่จำฮิระงะนะ และ คะตะคะนะได้พอประมาณแล้ว ให้หาหนังสือดีๆมาเพื่อใช้ประกอบการเรียน โดยหนังสือดีๆนั้นมีมากมาย แต่ที่หลายคนแนะนำเบื้องต้นก็คงจะเป็น みんなの日本語 (มินนะ โนะ นิฮงโกะ) ทั้ง 4 เล่ม นอกจากนี้ที่อยากจะแนะนำก็มีหนังสือ “คันจิที่มาและความหมาย” ซึ่งมีอยู่ 4 เล่มด้วยกัน นำมาใช้ฝึกคันจิควบคู่ไปกับการเรียนจากมินนะ โนะ นิฮงโกะ
4. เริ่มฝึกตัว คันจิ ควบคู่ไปกับการเรียน
หลายคนอาจจะคิดว่าคันจิยากและน่าเบื่อ แต่สำหรับเราคิดว่ามันสนุกที่สุดสำหรับภาษาญี่ปุ่นเลยก็ว่าได้ นอกจากนี้การเรียนตัวคันจิจะทำให้เราเข้าใจความคิดของคนญี่ปุ่นมากขึ้นอีกด้วย ในตอนเริ่มต้นเรียนภาษาญี่ปุ่นอาจจะยังไม่ต้องเริ่มฝึกคันจิก็ได้ แต่ให้เรียนรู้และมีคำศัพท์ที่เรารู้สักประมาณหนึ่งก่อน จากนั้นค่อยเริ่มฝึกคันจิตามมาทีหลัง แนะนำว่าอย่าฝึกจำคำใหม่ที่เรายังไม่รู้ แต่ให้จำคันจิจากคำศัพท์ที่เรารู้อยู่แล้ว
5. เทคนิคการจดจำด้วยภาพและการเชื่อมโยง
วิธีการจดจำคำศัพท์ใหม่ๆ ที่ผมใช้อยู่เสมอและได้ผลดีที่สุดนั่นก็คือ การจดจำด้วยภาพและการเชื่อมโยง ยกตัวอย่างคำว่า
– 車 (คุรุมะ) แปลว่า รถ นึกถึงภาพ “คุณครูขับรถมา” > ครูมา > คุรุมะ
– 食べる (ทะเบะรุ) แปลว่า กิน นึกถึงภาพ “ก่อนกินข้าวต้องทำท่าตะเบ๊ะ” > ตะเบ๊ะ > ทะเบะรุ
– 写真 (ชะชิง) แปลว่า รูปถ่าย นึกถึงภาพ “เห็นรูปจนชาชิน” > ชาชิน > ชะชิง
การเชื่อมโยงนั้นสามารถทำได้หลากหลายรูปแบบมากและไม่จำกัดวิธีการ ซึ่งพอทำแบบนี้บ่อยๆแล้ว สุดท้ายมันก็จะจำเข้าหัวโดยอัตโนมัติเลยละ ไม่เชื่อต้องลอง
6. สร้างสิ่งแวดล้อมของตนเองให้เป็นญี่ปุ่นมากที่สุด
คอมพิวเตอร์ โซเชี่ยลเน็ตเวิร์คต่างๆ โทรศัพท์มือถือ ถ้าเป็นไปได้ให้เปลี่ยนเป็นภาษาญี่ปุ่นให้หมด ถ้ามีคำไหนที่ไม่เข้าใจก็ให้เปิดค้นหาความหมายเอา นอกจากนี้ยังมีเคล็ดลับที่อยากจะแนะนำอีกอย่างคือ เขียนคำศัพท์แปะไว้บนสิ่งของต่างๆในบ้านเลย ถ้าเราได้เห็นมันอยู่ทุกวันๆ รับรองว่าต้องจำได้อย่างแน่นอน
7. อ่านแค่หนังสือ ไม่พอสำหรับการเรียนรู้
หนังสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งในการเรียนเท่านั้น บนโลกนี้มีสื่อการเรียนรู้อีกมากมายนอกจากในหนังสือ เช่น หาเพลงญี่ปุ่นมาฟังแล้วทำความเข้าใจความหมาย หาหนังหรือการ์ตูนญี่ปุ่นมาดู แต่อย่ามัวแต่อ่านซับไตเติ้ลนะ ไม่งั้นก็ไม่มีประโยชน์อะไร ให้ใช้หูคอยฟังภาษาญี่ปุ่นไปด้วย เวลาที่เราเจอคำศัพท์ที่รู้จักจากในหนังหรือการ์ตูน มันรู้สึกภูมิใจอย่างบอกไม่ถูกเลยหล่ะ นอกจากนี้การเล่นเกมภาษาญี่ปุ่นก็ช่วยได้ไม่น้อยเลยละ
8. สงสัยตรงไหนให้หาคำตอบเดี๋ยวนั้นเลย
สมมติว่ากำลังนั่งคิดอะไรเพลินๆ แล้วอยู่ดีๆเกิดนึกแวบเข้ามาในหัวว่า “คำนี้ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่าอะไรนะ รู้สึกคุ้นๆจัง” ถ้าเป็นแบบนี้อย่าปล่อยผ่าน ให้เปิดหาคำตอบของความสงสัยเดี๋ยวนั้นเลย แล้วคำตอบของความสงสัยนั้นมันจะจำฝังหัวเราอัตโนมัติเลยละ
9. ทบทวนให้มากที่สุด
Herman Ebbinghaus ได้ทําการทดสอบความจําหลังการเรียนรู้คําที่ไม่มีความหมายในช่วงเวลาที่ต่างๆกัน พบว่าคนเราจะจําได้100%ในช่วงเริ่มต้น เมื่อเวลาผ่านไป20นาที ความจําจะเหลือ60% 1ชั่วโมงผ่านไปจะจําได้50% 9 ชั่วโมงผ่านไปจะจําได้40% และภายใน1วัน ความจําจะเหลือประมาณ30%
ข้อมูลจาก : wegointer
No comments:
Post a Comment